หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
Bachelor of Engineering Program in Environmental Engineering

Bachelor of Engineering Program
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Engineering Program in Environmental Engineering
ชื่อปริญญา
ชื่อเต็มภาษาไทย : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
ชื่อย่อภาษาไทย: วศ.บ.
ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ: Bachelor of Engineering
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ: B.Eng.
อนาคตหลังสำเร็จการศึกษา
สามารถทำงานในฐานะวิศวกรสิ่งแวดล้อมในงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการทำงานด้านดูแลรักษา ควบคุมและออกแบบระบบจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ
- ระบบบำบัดน้ำเสียประเภทต่างๆ
- ระบบผลิตและขนส่งน้ำประปาชุมชนและอุตสาหกรรม
- ระบบจัดการของเสียชุมชนและของเสียอันตราย
- ระบบสุขาภิบาลอาคาร
- ระบบควบคุมมลภาวะทางอากาศ
- การจัดการระบบสิ่งแวดล้อม
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 147 หน่วยกิต แบ่งได้ดังนี้
- หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ 3 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชามนุษย์ศาสตร์ 3 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาสหศาสตร์ 3 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปกลุ่มพิเศษ 6 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ 12 หน่วยกิต
- หมวดวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 21 หน่วยกิต
- หมวดวิชาเฉพาะ 90 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาบังคับ
- วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม 17 หน่วยกิต
- วิชาแกนระดับสาขาวิชา 42 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาบังคับเลือก
- วิชาแกนระดับสาขาวิชา 26 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาเลือก
- วิชาแกนระดับสาขาวิชา 5 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาบังคับ
- หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าศึกษา
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นไปตามระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสาขาวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิธีการคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
หลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการรับนักเรียนเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประกาศของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร
ค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละ 25,500 บาท
พันธกิจของสถาบันการศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา มีการจัดโครงสร้างองค์กรเป็นระดับมหาวิทยาลัย คณะ และภาควิชาซึ่งมีความเชื่อมโยงของพันธกิจ ดังนี้
1.1 พันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกระบวนการส่งผ่านพันธกิจสืบเนื่องมากว่า 100 ปี และยังมองไกลไปในอนาคตและได้กําหนดพันธกิจให้ทราบทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่าพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ
1) สร้างบัณฑิตที่มีความสามารถด้านวิชาการ มีทักษะทันสมัย มีจิตสาธารณะ และมีความเป็นผู้นํา
2) บุกเบิก บูรณาการองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการเรียนการสอนและวิจัย
3) สร้างผลงานวิชาการและวิจัยในระดับนานาชาติ
4) นําความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2555-2570) เพื่อกําหนดทิศทางร่วมกันในการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะยาวและได้รับความเห็นชอบจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพร้อมนํามาใช้ในการบริหารให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวไกลในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก ในการจัดทําแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง เพื่อให้สามารถปรับแต่งรายละเอียดของแผนงานระยะยาว จากการป้อนกลับจากการดําเนินงานและการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคม โดยมีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้ม ผลกระทบของปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การเมือง และสิ่งแวดล้อม ประเด็นท้าทายต่าง ๆ ทั้งทางด้านการศึกษาและการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว รุนแรง ต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและก่อนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด ความมุ่งหวังคือให้เป็นแนวทางเพื่อพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอ้างอิงของแผ่นดิน โดยการนําการวิจัย การเรียนการสอน และการบริการสังคม มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือและเกิดการพัฒนาในศาสตร์ต่าง ๆ ให้มีความเกื้อหนุนกันและได้มีการตรวจสอบผลของแผนยุทธศาสตร์รายปี
1.2 พันธกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้างการบริหาร และการตอบสนองพันธกิจไว้ในเว็บไซต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้กําหนดพันธกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
1) สร้างวิศวกรที่มีความรู้ มีทักษะตามมาตรฐานในระดับนานาชาติ และเหมาะสมกับสังคมไทยและสังคมโลก
2) เสริมสร้างนิสิตให้เป็นวิศวกรและบัณฑิตที่สามารถครองตนอย่างมีคุณธรรม และเป็นผู้นําในสังคมไทยและสังคมโลก
3) บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่ด้านวิศวกรรมและบูรณาการองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยและสังคมโลก
4) ถ่ายโอนองค์ความรู้สู่สังคมไทยเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในประชาคมโลก
โดยพันธกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์มีความสัมพันธ์กับพันธกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นได้ว่าพันธกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์มีความใกล้เคียงกัน แต่ในด้านมาตรฐานบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความสําคัญกับมาตรฐานบัณฑิตในระดับนานาชาติด้วย
เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องการ จึงมีการกําหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมในแต่ละแผนยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนโยบายของวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจที่กําหนดไว้ และวางกลยุทธ์รวมถึงการเสนอโครงการหรือกิจกรรมที่นําไปสู่การวัดประเมินได้ นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการในการกําหนดค่านิยม (Core Values) หรือคุณลักษณะที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะและส่งผลต่อพฤติกรรมในการปฏิบัติงานของบุคลากร โดยทีมงานภายนอกจัดกิจกรรมสําหรับนิสิต คณาจารย์ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในระดับต่าง ๆ ซึ่งค่านิยมหลักมีมีผลต่อความสําเร็จของคณะวิศวกรรมศาสตร์
1.3 พันธกิจของภาควิชา
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้กำหนดพันธกิจที่สอดคล้องกับคณะและมหาวิทยาลัยดังนี้
1) ผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมสิงแวดล้อมที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมทั้งทำประโยชน์ให้กับสังคม มีความสามารถในการเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเอง และสามารถศึกษาต่อการศึกษาระดับสูงในระดับนานาชาติ
2) ผลิตผลงานวิจัย และการบริการวิชาการที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและสังคม
วัตถุประสงค์หลักสูตร
2.1 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1) มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพียงพอแก่การประยุกต์ใช้และการเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะทางวิชาชีพต่อไปในอนาคต
2) มีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในการวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงสามารถวางแผนและออกแบบการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆได้
3) มีความสามารถในการเรียนรู้ และวิเคราะห์ประเด็นปัญหาใหม่ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้
2.2 ผลลัพธ์การศึกษา
โดยผลลัพธ์การศึกษาคือนิสิตที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมนี้เป็นไปตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ บัณฑิตจุฬาฯ เป็นผู้ที่มีคุณค่าของสังคมโลกซึ่งประกอบด้วย 9 ด้าน ดังนี้
- มีความรู้ (รู้รอบ รู้ลึก)
- มีคุณธ รรม (มีคุณธรรมและจริยธรรม มีจรรยาบรรณ)
- คิดเป็น (สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา)
- ทำเป็น (มีทักษะทางวิชาชีพ มีทักษะทางการสื่อสาร มีทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติ มีทักษะการบริหารจัดการ)
- ใฝ่รู้และรู้จักวิธีการเรียนรู้ (ใฝ่รู้ รู้จักวิธีการเรียนรู้)
- มีภาวะผู้นำ
- มีสุขภาวะ
- มีจิตอาสาและสำนึกสาธารณะ
- ดำรงความเป็นไทยในกระแสโลกาภิวัตน์
โดยที่คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรนี้ยังมีคุณลักษณะที่สอดคล้องตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำหนดไว้ 13 องค์ประกอบ ดังนี้
1. มีองค์ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ – มีความรู้กว้างและรู้ลึกในศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
2. สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ – สามารถนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการแก้โจทย์ปัญหาในการทำโครงงานพิเศษ และในรายวิชาการฝึกงาน ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรมศาสตร์
3. สามารถวิเคราะห์ปัญหา – มีทักษะด้านการเรียนรู้ การคิดอย่างใช้เหตุผล การวิเคราะห์และกระบวนการแก้ปัญหาด้วยการวิจัยอย่างเป็นระบบ ระบุปัญหาที่ซับซ้อนได้ วิเคราะห์ปัญหาได้
4. สามารถออกแบบและพัฒนาทางแก้ปัญหา – สามารถมองนอกกรอบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ตามระเบียบ ออกแบบการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงความปลอดภัย คำนึงถึงสาธารณสุขชุมชน คำนึงถึงวัฒนธรรมและสังคม สิ่งแวดล้อม
5. สามารถตรวจสอบ/สืบค้นข้อเท็จจริง – สามารถตรวจสอบ สืบค้นข้อเท็จจริง วางแผนควบคุมปัญหา/กระบวนการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ แปลผลการดำเนินงาน เพื่อหาบทสรุปได้อย่างมีประสิทธิผล
6. สามารถใช้เครื่องมือทันสมัย – การเลือกใช้เครื่องมือ เทคนิค ทรัพยากรที่เหมาะสมและทันสมัย ประยุกต์ใช้เครื่องมือ เทคนิค ทรัพยากรที่เหมาะสมและทันสมัย มีทักษะในเลือกใช้เครื่องมือในการทำโครงงานทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและทันสมัย สร้างเครื่องมือ เทคนิค ทรัพยากรที่เหมาะสมและทันสมัย
7. สามารถทำงานด้วยตนเอง และทำงานเป็นทีม – สามารถทำงานด้วยตนเองและสามารถทำงานในสถานะผู้นำของทีมและสมาชิกของทีม
8. สามารถติดต่อ สื่อสาร กับคณะทำงาน องค์กรวิชาชีพ กับสังคม – สามารถอธิบายสื่อสารให้กับผู้อื่นเข้าใจได้ ทั้งในรูปแบบการเขียนเชิงวิชาการ และการนำเสนอด้วยวาจา
9. ตระหนัก และรับผิดชอบถึงผลการปฏิบัติงานของวิศวกรต่อสังคม – จะต้องตระหนัก และรับผิดชอบถึงผลการปฏิบัติงานต่อความปลอดภัย สาธารณสุขชุมชน วัฒนธรรมและสังคม และการปฏิบัติงานในเชิงกฎหมาย
10.มีจริยธรรม – มีคุณธรรม จริยธรรม เสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต มีวินัย ตรงต่อเวลา มีจรรยบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ และมีวิสัยทัศน์ต่อวิชาชีพ มีจิตสาธารณะ
11.ตระหนัก และ/หรือสามารถทำงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง – จะต้องตระหนักและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานต่อสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติงานแบบยั่งยืนและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
12.การจัดการความเสี่ยงและการลงทุน ตระหนัก และ/หรือสามารถจัดการความเสี่ยง และการลงทุน – จะต้องตระหนัก และ/หรือมีความรู้ในการจัดการความเสี่ยง และการลงทุน ความเสี่ยงของการดำเนินงานในเชิงเศรษฐศาสตร์ และสามารถบริหารความเสี่ยงของการดำเนินงานในเชิงเศรษฐศาสตร์
13.ตระหนัก และ/หรือสามารถเรียนรู้ตลอดชีพ – ตระหนักถึงความจำเป็นในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และตระหนักถึงความสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีพ โดยเป็นผู้ใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา
สำหรับคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตร มีลักษณะเด่นคือ จะต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีความสามารถในการวิจัยและมีทักษะตามมาตรฐานในระดับนานาชาติ รวมถึงมีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรม มีจรรยาบรรณ และสามารถพัฒนาตนเองทางด้านวิชาการและสังคมต่อไปได้อย่างยั่งยืนในประชาคมโลก