ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) คืออะไร คำนวณอย่างไร อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “PM2.5 กับ AQI”[1] และ “ค่า PM2.5 เดียวกันแต่ AQI แย้งกันเพราะ…”[2] ข้อมูลAQI เหล่านี้บอกให้เราทราบถึงคุณภาพอากาศบริเวณใกล้ๆกับที่ตั้งของแต่ละสถานีหรือแต่ละเขตนั่นเอง โดยระดับสีแบ่งเป็นห้าระดับ สีฟ้าคือคุณภาพอากาศดีมาก สีเขียวคือคุณภาพอากาศดี สีเหลืองคือคุณภาพอากาศปานกลาง สีส้มคือคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และสีแดงคือคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ถ้าเราก็ดูจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ดังรูปที่(1) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ เราเห็นระดับสีเขียวหลายจุดในพื้นที่กทม. แต่พระพายก็ยังเปิดท้องฟ้าไม่หมดทีเดียว มีอีกหลายพื้นที่ที่อยู่ในระดับสีเหลือง เช่นรูปที่ (2) ที่เป็นพื้นที่ริมถนน และมีความแออัดของการจราจรอยู่เป็นปกติวิสัยของพื้นที่นั้น
[1] https://thaipublica.org/2018/05/air-pollution06/
[2] https://thaipublica.org/2022/02/air-pollution14/
รูปที่ (1) ภาพรวมระดับดัชนีคุณภาพอากาศของกทม. และค่าPM2.5 เฉลี่ยรายวัน พื้นที่เขตประเวศ วันที่ 11 มค 2568
จากรูปที่ (1) แสดงภาพรวมระดับค่าดัชนีคุณภาพอากาศของแต่ละสถานีในพื้นที่กทม. แทนด้วยหมุดสีเขียวและสีเหลืองกระจายในพื้นที่กทม. นั่นหมายถึงพื้นที่ในกทม. ในวันเวลาดังกล่าวมีคุณภาพอากาศดีถึงปานกลาง ขึ้นกับสีในแต่ละจุด และข้อมูลด้านล่างของแผนที่เป็นค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายวัน ของPM2.5 ที่สวนหลวงร.9 เขตประเวศ อ่านค่าได้ 18.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีระดับ AQI เท่ากับ 34 คุณภาพอากาศดี จากรูปที่ (2) ก็เช่นเดียวกัน แต่สถานีที่แสดงด้านล่างนั้นตั้งอยู่ที่ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายวัน ของPM2.5 อ่านค่าได้ 29.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีระดับ AQI เท่ากับ 66 คุณภาพอากาศปานกลาง
รูปที่(2) ภาพรวมระดับดัชนีคุณภาพอากาศของกทม. และค่าPM2.5 เฉลี่ยรายวัน พื้นที่เขตบางรัก วันที่ 11 มกราคม 2568
เราอยากชวนคิดต่อถึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อนำไปคำนวณค่า AQI เพื่อแจ้งเตือนประชาชนนั้น ประชาชนเป็นส่วนปลายทางของกระบวนการตรวจวัดคือเป็นผู้ใช้ข้อมูล แต่กระบวนการต้นทางโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนในการให้ข้อมูล ความรู้และอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการเข้าใจความหมายของข้อมูล และทำให้ความเข้าใจของการจัดการสารมลพิษได้ถูกฝาถูกตัวนั้น คงต้องมีภาระมากมายและครบถ้วนตามวัตถุประสงค์
จากรูปที่ (3) เป็นการแสดงระดับ AQI และค่าตรวจวัดมลพิษอากาศทั้งหกชนิดตามเกณฑ์กำหนดการคำนวณค่า AQI ของกรมควบคุมมลพิษ ได้แก่ PM2.5/ PM10/ O3/ NO2/ CO/ SO2 โดยระดับสีของAQI แสดงทางด้านซ้าย ตรงกลางแสดงจุดตั้งสถานี วันเวลา และด้านขวาเป็นค่าเฉลี่ยรายวัน หรือราย8 ชั่วโมงของมลพิษที่ทำการตรวจวัด แต่ละค่าของมลพิษยังมีการแสดงด้วยระดับสีเช่นเดียวกับค่า AQI เพื่อความสะดวกการอ่านผลอีกด้วย
รูปที่ (3) ตัวอย่างดัชนีคุณภาพอากาศและค่าตรวจวัดอื่นของพื้นที่ระยอง วันที่ 11 มกราคม 2568
ระดับสีของAQI ทั้งสามพื้นที่ ได้แก่ ต.มาบตาพุด/ ต.เนินพระ/ ต.ห้วยโป่ง ในรูปที่ (3) เป็นสีเหลืองเช่นเดียวกัน แต่ แต่ ในรายละเอียดที่มาของการเป็นระดับสีเหลืองนั้น มีที่มาต่างกัน คือ สีเหลืองแรก (81) ตัวต้นเหตุคือPM2.5 ถัดมาสีเหลืองที่สอง (51) เป็นโอโซนที่ส่งผลให้เกิดดัชนีคุณภาพอากาศสีเหลือง เช่นเดียวกับค่าระดับสีเหลืองตัวที่สาม
จากรูปที่ (3)นี้บอกอะไร
(ก) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงการตรวจวัดและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย ดังตัวอย่างของการคำนวณค่า AQI นั้นต้องมีค่าตรวจวัดมลพิษถึงหกชนิด(ตามมาตรฐานปัจจุบัน)
(ข) ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องทำความเข้าใจว่าในฝุ่นนั้นมีองค์ประกอบอะไร ไม่ใช่ทราบเพียงน้ำหนักของฝุ่นต่อปริมาตรอากาศ เพราะองค์ประกอบและสัดส่วนของอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า2.5ไมครอน ช่วยให้เราทราบถึงที่มาของแหล่งกำเนิด ลักษณะการเกิด ความเป็นพิษขององค์ประกอบที่อยู่ในฝุ่น การเคลื่อนที่ของฝุ่น การแก้ไขปัญหาจะได้ถูกต้องไม่เสียเวลาเหมาเข่ง หว่านแหไปอย่างไร้ทิศทาง
(ค) การสร้างความตระหนักรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนให้มีทักษะการแปลผลข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งมีความจำเป็นมาก
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
https://medium.com/@sirima.p/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9B-6a13226253e3